Share

Newsroom

ก้าวสำคัญของ OECD ในการเข้าสู่ปีที่ 10 ของการมีส่วนร่วมกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

02/04/2024 - ผู้นำและรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิก OECD และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบสิบปีของ โครงการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ OECD (SEARP) ในช่วงการประชุมคณะมนตรีของ OECD ระดับรัฐมนตรี ในวันนี้


ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานโลกที่สำคัญ และเป็นแหล่งกำเนิดและปลายทางที่สำคัญสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นภูมิภาคนี้จึงเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อประเทศสมาชิกของ OECD อย่างมาก ด้วยเหตุผลประการดังกล่าว อีกทั้งความสำคัญทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ OECD จึงได้ริเริ่มโครงการSEARP ในห้วงการประชุมคณะมนตรีของ OECD ระดับรัฐมนตรีในปี 2557 (2014) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ของญี่ปุ่นในขณะนั้นเป็นประธาน


นับตั้งแต่ปี 2557 (2014) เป็นต้นมา จำนวนของการเข้าเป็นภาคีในตราสารกฎหมายของ OECD จากประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้เพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 63 และการปรับสถานะในการเข้าร่วมในคณะกรรมการต่างๆของ OECD ได้เพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 58 นอกจากนี้โครงการSEARP ได้สนับสนุนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปภายในประเทศและการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยได้ให้การสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนากฏระเบียบและนโยบายสาธารณะเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและเครื่องมือทางกฎหมายของ OECD มากขึ้น โดยเน้นที่นโยบาย 13 ด้าน ครอบคลุมตั้งแต่นโยบายด้านภาษีไปจนถึงการท่องเที่ยว ความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบายจากประเทศOECD และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลกร่วมกัน


“โครงการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งริเริ่มในปี 2557 (2014) โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ได้ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนวาระการปฏิรูปของประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงกรอบการต่อต้านการทุจริตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายการแข่งขันทางการค้าใหม่ และการก่อตั้งหน่วยงานด้านการแข่งขันทางการค้าใหม่ การสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับนวัตกรรมและกรอบการจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” มาเธียส คอร์มานน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD กล่าวในโอกาสนี้ร่วมกับ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ของญี่ปุ่น และ ดร.เกา คิม ฮูร์น (Dr Kao Kim Hourn) เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ความพยายามในการสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนากฏระเบียบและนโยบายสาธารณะเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและเครื่องมือทางกฎหมายของ OECD มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมากซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ในการเปิดการเจรจาการทำภาคยานุวัติกับประเทศอินโดนีเซีย และการพิจารณาคำขอของประเทศไทยที่จะเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก OECD นอกจากนี้ในระหว่างที่อาเซียนกำลังจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมปี 2588 (2045) อยู่นี้ OECDจะเพิ่มกำลังการทำงานของเราเพื่อสนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงผ่านการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติของกรอบยุทธศาสตร์ของ OECD สำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”


ความร่วมมือกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนของการดำเนินการSEARP เพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้การลงนามใน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ฉบับใหม่ระหว่างOECD และอาเซียนในปี 2565 (2022) ที่ผ่านมา ได้วางแนวทางให้ OECD และอาเซียนเพิ่มความร่วมมือกันในนโยบาย 35 ด้านที่สำคัญ เช่น ภาษี สภาพแวดล้อมทางการกำกับดูแลเพื่อการค้า โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การพัฒนาทักษะ และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล


นอกเหนือจากอาเซียนแล้ว OECD ในฐานะส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมในระดับภูมิภาค ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP)


ตั้งแต่ปี 2550 (2007) OECD ได้ริเริ่มความมีส่วนร่วมในความร่วมมือระดับทวิภาคีกับประเทศอินโดนีเซียในฐานะหุ้นส่วนสำคัญขององค์กร เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะมนตรีแห่ง OECD ได้มีมติครั้งสำคัญที่จะเปิดการเจรจาการจัดทำการภาคยานุวัติกับประเทศอินโดนีเซีย ซี่งนับว่าป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าสู่กระบวนการภาคยานุวัติเพื่อเข้าเป็นสมาชิกของ OECD นอกจากนี้ OECD ยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับประเทศสิงคโปร์ และได้จัดตั้งโครงการระดับประเทศกับประเทศไทยและประเทศเวียดนามโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศเหล่านี้ จากความร่วมมือในผ่านโครงการดังกล่าว ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะขอเข้าสู่กระบวนการภาคยานุวัติเพื่อเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรต่อไป


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานของ OECD ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุณาเข้าชมหน้าเว็บของ OECD และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางออนไลน์


 

คุณยูมิโกะ โยโกคาวะ (Yumiko Yokokawa) ที่สำนักข่าว ของ OECD (+33 1 45 24 97 00).

 



OECD ร่วมงานกับประเทศกว่า 100 ประเทศ เป็นเวทีนโยบายระดับโลกที่ส่งเสริมนโยบายเพื่อรักษาเสรีภาพส่วนบุคคล และพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนทั่วโลก

 

Related Documents